แนวดนตรีใหม่ที่เรียกว่า‘สกา’(Ska) จึงกำเนิดขึ้น
สกา คือดนตรีที่มีพื้นฐานมาจาก Mento music ดนตรีพื้นบ้านของชาวจาไมกา โดยมีลายแพท เทิร์นหรือลายเบสที่ใกล้เคียงกับร็อคแอนด์โรลล์ จุดเด่นอยู่ที่ความเป็นดนตรีจังหวะ (Rhythm music)
เพราะเน้นที่จังหวะยก ผู้ฟังจึงสามารถขยับร่างกายสนุกสนานตามจังหวะเพลงไปได้ตลอด และเมื่อบวกกับสีสันของเครื่องเป่าทองเหลืองต่างๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เสน่ห์ของดนตรีแนวนี้ชัดเจนขึ้น
เมื่อดนตรีแนวสกาเริ่มเป็นที่แพร่หลาย จึงมีผู้คิดค้นแนวเพลงใหม่ๆที่แตกออกไปอีก อาทิ Raggae, Rocksteady, Dub, Ska punk, Lovers Rock ฯลฯ ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายและแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียดทางดนตรี แต่ก็ล้วนมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน
หลายๆ คนที่เป็นแฟนเพลงแนวสกาอยู่แล้วจะต้องคุ้นหูกับชื่อวงThe Skatalites อย่างแน่นอน เพราะเป็นวงสกาแท้ๆ จากจาไมก้า ที่มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบัน หรือจะเป็น บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) พ่อเพลงเรกเก้ที่ไม่ว่าใครฟังก็ต้องหลงรัก แต่ถ้าจะเอ่ยถึงวงสกาในเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักทีโบน
แม้ว่าในช่วงแรกๆ คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นกับเพลงแนว เรกเก้-สกา เท่าไรนัก แต่ความคลั่งไคล้ในดนตรีแนวนี้ของเขาก็ยังเคยไม่ลดลงไป“ทุกอย่างครับที่ทำ ไม่มีใครฟังเท่าไร ไปเล่นแต่ละที่ก็คนน้อยมาก ไม่เหมือนตอนนี้ แต่ก็รู้สึกมันเป็นอย่างเดียวที่ทำได้ดีที่สุดครับ ผมว่าผมชอบมันจริงๆ แล้วก็ศึกษามันเยอะมาก แล้วก็...ไม่รู้สิ ผมมีอารมณ์กับดนตรีแบบนี้”
เหตุผลหนึ่งที่อาจมีส่วนทำให้สกาเริ่มเป็นที่นิยมในเมืองไทย คงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางดนตรีที่ไม่ได้ไกลกันมากนัก เนื่องจากเพลงก็เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากสภาพสังคมและความเป็นไปของบ้านเมือง ยกตัวอย่างจากสีเขียวเหลืองแดงที่ว่านั้น ก็เป็นสีของธงชาติจาไมกา ซึ่งมีความหมายซ่อนอยู่และสำคัญกับประชาชนของเขาเหมือนกับที่ความหมายของสีแดงขาวน้ำเงินบนธงไตรรงค์ก็สำคัญกับคนไทยเช่นกัน
‘People of today, Rasta’s not a fashion, you have to understand’
“ในเพลง Raggae Passion เขาบอกว่าคำว่า Rasta หรือสีเขียวเหลืองแดงนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของแฟชั่น
แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่าง
สีแดงหมายถึง เลือดเนื้อเผ่าพันธุ์ ชีวิต
สีเหลืองเหมือนสีทอง เป็นสีของพระอาทิตย์ แหล่งพลังงานที่ให้วันใหม่
ให้ต้นไม้เติบโต เพราะบ้านเขาเป็นประเทศเพาะปลูกเหมือนกัน
ส่วนสีเขียว เป็นสีของธรรมชาติ ของโลก ของแผ่นดินเกิด”
ดี้ ไคโจบราเธอร์ เล่าถึงที่มาของ 3 สีสำคัญที่คนชอบฟังเพลงสกาควรจะเข้าใจ ด้านเนื้อหา เพลงเรกเก้ยุคแรกๆ มักพูดถึงเรื่องการเมือง การรวมประเทศ และการเป็นกลุ่มก้อนของคนดำแอฟริกาก็คงคล้ายๆ กับตอนที่วงคาราบาวทำเพลงในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา “ศิลปินบ้านเราก็ใช้เนื้อหาพวกนี้มาเป็นจุดเชื่อมโยงเหมือนกัน แล้วอีกอย่าง ทางคอร์ดทางดนตรีก็ใกล้เคียงกันมาก ผมว่าเพลงลูกทุ่งของไทยเล่นเหมือนสกาเลยครับ ต่างกันที่คนไทยเล่นเน้นจังหวะตก ตึก...โป๊ะโป๊ะตึก..โป๊ะ แต่สกาเขาเน้นตรงจังหวะยก” เขาอธิบายต่อ ส่วนเพลงสกาสมัยใหม่ เนื้อหาก็เป็นเรื่องทั่วไปที่เรียบง่ายเน้นความสนุกสนาน ฟังสบายๆ ไม่ต้องคิดมาก
อย่างไรก็ตาม เพลงก็คือเพลง จะเป็นแนวไหน ก็แตกต่างกันไปตามสายทางของมัน คนเราชอบฟังเพลงต่างกัน เพราะมีวิธีปลดปล่อยกับเพลงต่างกัน สำคัญที่สุด อยู่ตรงความรู้สึกระหว่างเรา กับเพลงที่เรารักมากกว่า “หลากหลายความรู้สึก แต่ดนตรีก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ความหลากหลายบนโลกนี้อยู่ร่วมกันได้
เหมือนเป็นภาษาที่ไม่ต้องพูดก็เข้าใจ จะต่างรสนิยม ต่างวัฒนธรรม หรือต่างจิตต่างใจ ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แค่เรามีแนวดนตรีที่เรารักจริงๆ และเข้าใจมันก็น่าจะเพียงพอ สำหรับเรา ขอบคุณเพลงสกา ที่ทำให้วันที่มีแต่ท้องฟ้าสีสดกับทะเลสีครามนั้น กลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง
“หัวใจมากมายต่างภาษา อยู่ร่วมกันด้วยความรัก-เข้าใจ-พูดจา รับฟังเสียงมนต์รักเพลงสกา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น